จะเกิดอะไรขึ้นหาก “รัสเซีย” ผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต ?
คอลัมน์ : ลงทุนทั่วโลก
ผู้เขียน : เหมือนมาส บุญงอก
บริษัทหลักทรัพย์ไพน์เวลท์โซลูชั่น จำกัด
หากเรากลับไปดู Outlook 2022 ย้อนหลังของสถาบันการเงินทั่วโลก แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในปัจจุบันที่ทำให้ตลาดผันผวนทั่วโลก ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์การเงินระดับโลกอย่าง Financial Times และ Wall Street Journal ต่อเนื่อง แซงหน้าประเด็นเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
หลังจากการประกาศคว่ำบาตรรัสเซียออกจากระบบการค้าและการเงินโลกนำโดยสหรัฐและยุโรป สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการคว่ำบาตรสถาบันการเงินรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT (society for world-wide interbank financial telecommunication เครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศสะดวก ต้นทุนต่ำ และจำเป็นต่อธุรกรรมทางการเงิน) และการอายัดทุนสำรองของรัสเซียครึ่งหนึ่งกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลและบริษัทในรัสเซียมีหนี้สกุลต่างประเทศอยู่ประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐโดยกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญเป็นหนี้สกุลต่างประเทศของรัฐบาล
ล่าสุด ความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 70% และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ออกมาบอกว่าการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียอาจจะ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” และในเดือนเมษาฯนี้ รัสเซียจะต้องจ่ายเงินสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังจะหมดอายุมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในสกุลเงินดอลลาร์ตามที่ระบุในสัญญา อย่างไรก็ตาม หากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ในช่วงแรกอาจจะไม่ได้มาจากการไม่มีเงินจ่าย แต่มาจากการโดนคว่ำบาตรผ่านระบบการเงินโลก (technical default) ทำให้รัสเซียไม่สามารถ/ไม่ยอมชำระเป็นสกุลต่างประเทศตามที่ระบุในสัญญาได้
โดยบริษัทจัดการการลงทุนยักษ์ใหญ่ด้านตราสารหนี้ของโลก เช่น PIMCO ได้ถือพันธบัตรรัฐบาลและออกขาย CDS* ของรัสเซียบางส่วน (Source : FT, 10 มี.ค. 22) ซึ่งกองทุนในไทยที่มีกองทุนหลักเป็น PIMCO ที่มีสินทรัพย์รัสเซีย มีมูลค่าคร่าว ๆ ไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท ผลกระทบอาจจะไม่ได้มีแค่ในส่วนบริษัทจัดการกองทุน เพราะก่อนหน้านี้พันธบัตรรัสเซียมีเรตติ้ง BBB จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ลงทุนได้ (investment grade) ก่อนจะโดนปรับเป็นเรตติ้งลงมาเป็น C ที่อยู่ในกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุนได้ (noninvestment grade) และเป็นอันดับสุดท้ายเหนือกว่า D (default) ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทำให้นักลงทุนสถาบัน เช่น Pension Funds และ Endowment Funds ที่มีสัดส่วนพันธบัตรรัสเซียในพอร์ตการลงทุนเพื่อเกาะกับ benchmark สินทรัพย์ตราสารหนี้ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนในส่วนนี้
ผลกระทบอาจจะตามมาระยะสั้น คือ การเกิดแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นและพันธบัตรฝั่งตลาดเกิดใหม่ เพื่อเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น USD, JPY หรือทองคำ โดยในระยะสั้นตลาดได้คาดการณ์ไว้ระดับหนึ่งว่ารัสเซียจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ สะท้อนจากราคาพันธบัตรของรัสเซียที่โดนทิ้งดิ่งลงมากว่า 80% หลังจากโดนคว่ำบาตร
ด้านผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว เราอาจจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศจากรัฐบาลหรือบริษัทรัสเซีย เพราะว่าไม่สามารถมีเงินนำมาชำระหนี้ได้จริง ๆ หากเราดูภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นักวิเคราะห์คาดเงินเฟ้อรัสเซียอาจจะแตะ 20% ในปีนี้ และผลกระทบจากการโดนคว่ำบาตรผ่านบริษัทต่างชาติที่ประกาศถอนตัวดำเนินธุรกิจออกจากประเทศ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนตกงาน ส่งผลกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัทเอง ในขณะที่ทุนสำรองของรัสเซียครึ่งหนึ่งถูกอายัด
ซึ่งโดยปกติแล้วหากระดับรัฐบาลแต่ละประเทศมีการผิดนัดชำระหนี้ องค์กรต่างประเทศ เช่น IMF จะสามารถเสนอเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูได้ แต่ในยุคที่รัสเซียค่อย ๆ ทยอยโดนตัดขาดจากโลกภายนอกทุกทิศทาง ความช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์กรนานาชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้านการผิดนัดชำระหนี้ระดับบริษัท การจะปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศซึ่งอาจจะต้องข้องเกี่ยวกับธนาคารต่างประเทศ อาจจะทำได้ยากเพราะธนาคารต่างประเทศเริ่มทยอยถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย
คำถามที่ตามมาคือ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ จะทำให้เกิด financial crisis หรือไม่ ? ข่าวดีคือในปัจจุบัน ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าก่อนปี 2008 และมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่าแต่ก่อนอย่างมาก นอกจากนี้สถาบันการเงินได้ลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 ที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้ามา อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ทางการเงินเต็มไปด้วยตัวอย่างว่า ผลกระทบที่ไม่คาดคิดท่ามกลางตลาดในปัจจุบันที่ผันผวน เปราะบาง และหนี้ที่ทำจุดสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายที่คนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ด้านกลยุทธ์การลงทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์ไพน์เวลท์โซลูชั่น มีการแนะนำให้ลูกค้าถือเงินสดประมาณ 70% ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดย underweight กลุ่มตราสารหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น investment grade/noninvestment grade ทั่วโลก และเข้าลงทุนกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
ซึ่งการมีสภาพคล่องในการลงทุนที่สูง เมื่อตลาดลงอย่างหนักจากความเสี่ยงที่ไม่มีใครคาดคิด จะเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพที่สามารถสร้างการเติบโตได้ดีในอนาคตในราคาที่เหมาะสม (เขียน ณ วันที่ 17 มี.ค. 2022)
…………………
Note : (*) CDS หรือ credit default swap เป็นเครื่องมือการเงินที่ป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินใดที่ออกขาย CDS ต้องจ่ายส่วนต่างที่ไม่ได้รับชำระหนี้ให้ผู้ซื้อแทน
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance